โดย เควิน คาร์สัน
เควิน คาร์สัน. บทความต้นฉบับ: A.R. Moxon on Billionaires. 26 เมษายน 2025. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin
นานๆ ทีเวลาเราได้ยินคนพูดเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ เราจะอยากแชร์สิ่งนั้นออกไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับผม เรื่องที่ว่าคือ คำอธิบายเกี่ยวกับมหาเศรษฐีและบทบาททางสังคมของมหาเศรษฐีทั้งหลาย โดย เอ.อาร์. ม็อกซอน
สิ่งที่พวก[มหาเศรษฐี]ทำคือ การพาตัวเองเข้าไปใกล้แหล่งคุณค่าโดยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากระบบของมนุษย์ที่ดำเนินไปโดยธรรมชาติ – คุณค่าที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์เป็นมนุษย์และใช้ชีวิตใกล้ชิดกันจนกลายเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “สังคม” อันเป็นต้นกำเนิดของคุณค่าทั้งปวง – จากนั้นก็ขโมยคุณค่าเหล่านั้นไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว พวกเขายึดครองคุณค่าที่มนุษย์สร้างขึ้นร่วมกันบางส่วนไว้ – ยึดครองกิจการ กระบวนการ หรือแนวคิดหนึ่งๆ หรือสิ่งอื่นใดก็ตามที่เกิดขึ้นได้ก็เพราะมนุษย์อยู่ร่วมกันในฐานะสังคม และสำเร็จขึ้นมาได้ก็เพราะมันสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่น – แล้วนำคุณค่าที่พวกเขาได้ขโมยมาอย่างไม่เป็นธรรมนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการครอบครองสิ่งเหล่านั้น จากนั้นก็บิดเบือนมันจนในที่สุดมันไม่สร้างคุณค่าให้ใครอีกเลย นอกจากจะส่งคุณค่ากลับไปให้พวกเขาเท่านั้น สุดท้าย มหาเศรษฐีจะนำคุณค่าที่ยักยอกไว้แต่ผู้เดียวนี้มาใช้เป็นหลักฐานว่าตนเองช่างเป็นบุคคลทรงคุณค่าเหนือใคร
ประโยคแรกของม็อกซอนถือเป็นหนึ่งในบทสรุปที่กระชับที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น ในบรรดาข้อโต้แย้งที่นักวิจารณ์ทุนนิยมพยายามเสนอในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา
ข้อความดังกล่าวแทบจะเหมือนกับคำอธิบายของเฮนรี จอร์จ เกี่ยวกับการทำงานของค่าเช่าที่ดินของเจ้าที่ดินแบบคำต่อคำ จอร์จอธิบายว่า เจ้าของที่ดินแค่นั่งอยู่บนผืนดิน อันเป็นทรัพยากรที่ไม่มีใครเป็นผู้สร้างขึ้น และมีอยู่จำกัดโดยธรรมชาติ ก็สามารถกอบโกยมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากทำเลนั้นไปได้ ต่อให้มูลค่าทั้งหมดเหล่านี้จะเกิดขึ้นจากความมั่งคั่งของชุมชนรอบข้าง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาใดๆ ที่เจ้าของที่ดินเป็นคนทำเลยก็ตาม
จอร์จต่อยอดคำอธิบายนี้จากการวิเคราะห์ส่วนต่างค่าเช่า (differential rent) ของริคาร์โด หลักการคือ ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งต้องใช้แรงงานและการปรับปรุงดินน้อยที่สุดในการผลิตผลผลิตต่อหน่วย จะถูกนำมาเพาะปลูกก่อน จากนั้นเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ที่ดินผืนใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ลดลงเรื่อยๆ และต้องใช้ต้นทุนมากขึ้นในการผลิตผลผลิตเท่าๆ กัน ก็จะถูกนำมาเพาะปลูกตามลำดับ เมื่อเกษตรกรที่ทำกินบนที่ดินคุณภาพต่ำกว่าได้ผลผลิตน้อยลงด้วยต้นทุนเท่าเดิม พวกเขาจึงจำเป็นต้องตั้งราคาขายสูงขึ้น ส่วนเกษตรกรที่ทำกินอยู่บนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์กว่า แม้ต้นทุนจะต่ำกว่ามาก ก็ยังสามารถตั้งราคาขายเท่ากันได้ เพราะข้าวเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ ราคาส่วนเพิ่มที่พวกเขาเก็บได้เพียงเพราะคนที่ปลูกบนที่ดินแย่กว่าต้องตั้งราคาสูงขึ้นนี่เอง คือรายได้ที่ไม่ได้มาจากการลงแรงจริง (unearned income) กล่าวคือเป็นราคาที่เรียกเก็บได้มากกว่าและนอกเหนือจากสิ่งที่จูงใจให้พวกเขานำสินค้ามาขายในตลาดเนื่องจากความได้เปรียบเชิงสถานการณ์ นี่คือพื้นฐานของทฤษฎีค่าเช่าทางเศรษฐกิจในฐานะที่เป็นรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากลงแรงจริง เนื่องจากเป็นผลของความได้เปรียบเชิงอำนาจ (เช่น สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดีกว่าคนอื่น – ผู้แปล) มากกว่าจะเกิดจากการผลิต
ค่าเช่าทางเศรษฐกิจไม่ได้จำกัดอยู่แค่ส่วนต่างค่าเช่าจากที่ดิน ซึ่งเกิดจากทำเลหรือความอุดมสมบูรณ์ของที่ดินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงรายได้ทุกประเภทที่ไม่ได้เกิดจากการผลิต ทว่าเกิดจากความได้เปรียบเชิงสถานการณ์ เฮนรี จอร์จ จูเนียร์ ลูกชายของจอร์จ ขยายการวิเคราะห์เรื่องที่ดินของพ่อไปสู่การวิพากษ์ “อภิสิทธิ์” โดยทั่วไป ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการดูดกลืนและปิดกั้น “โอกาสตามธรรมชาติ” (natural opportunities) เพื่อสกัดเอารายได้ที่ไม่ได้มาจากการลงแรงจริง
การผูกขาดโอกาสตามธรรมชาติ การเก็บภาษีมหาศาลจากการผลิต การใช้บริการสาธารณะอย่างผิดๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน และอภิสิทธิ์เล็กใหญ่อื่นๆ อีกมาก คือสาเหตุของความเหลื่อมล้ำในการกระจายความมั่งคั่งที่เห็นได้ชัดอยู่รอบตัว เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พลังในการผลิตความมั่งคั่ง แต่เป็นพลังในการแย่งชิงความมั่งคั่งมาเป็นของตน
นักเศรษฐศาสตร์สถาบัน ธอร์สไตน์ เวเบลน เรียกปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้ว่า “การทำให้ใช้งานไม่ได้ที่กลายเป็นทุน” (capitalized disserviceability) ซึ่งช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น แนวคิดนี้ชี้ว่าที่มาของความมั่งคั่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของการผลิต แต่คือการไม่เข้าไปขัดขวาง[การผลิต]ในยามที่ตนเองมีอำนาจจะขัดขวางได้
มอริซด็อบนักมาร์กซิสต์เสนอแนวคิดเดียวกันนี้ผ่านตัวอย่างสมมติของค่าเก็บค่าผ่านทาง
ลองจินตนาการว่ารัฐมอบสิทธิพิเศษให้ชนชั้นหนึ่งสามารถตั้งด่านเก็บค่าผ่านทางบนถนนสาธารณะทุกสาย และเก็บรายได้จากค่าผ่านทางไว้เป็นของตนแต่เพียงผู้เดียว ตามกฎของเศรษฐศาสตร์สายมูลค่าส่วนเพิ่ม ทรัพย์สินในด่านเหล่านี้จะกลายเป็น “ปัจจัยการผลิต” และการอนุญาตหรือไม่ขัดขวางการสัญจรเชิงพาณิชย์บนถนนสาธารณะก็จะกลายเป็น “บริการที่ก่อให้เกิดการผลิต” (productive service) ไปโดยปริยาย จำนวนเงินค่าผ่านทางที่เจ้าของด่านเก็บไว้ได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าปลายทางสูงขึ้น จะถูกมองว่าเป็น “ผลิตภาพส่วนเพิ่ม” (marginal productivity) ของการบริการที่ก่อให้เกิดการผลิตเหล่านี้
ต่างจากเศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิกมีแนวโน้มที่จะยอมรับ “สิทธิในทรัพย์สิน” ที่กำหนดโดยสังคมใดสังคมหนึ่งโดยไม่ตั้งคำถาม และปฏิบัติต่อรายได้ที่เกิดจากอำนาจในการขัดขวางราวกับสิ่งเป็นกลางทางคุณค่า (wertfrei) คือมองว่ามันเป็นผลตอบแทนจาก “คุณค่า” ที่ถูกสร้างขึ้นจริงๆ
ในความเป็นจริง ความมั่งคั่งมหาศาลที่มหาเศรษฐีส่วนใหญ่สะสมไว้ ไม่ได้เกิดจาก “คุณค่า” ที่พวกเขาสร้างขึ้นด้วยการผลิต แต่เกิดจากการไม่ขัดขวางการผลิตของคนอื่น พูดอีกอย่างก็คือ วิธีที่จะสะสมความมั่งคั่งในระดับพันล้านดอลลาร์ฯ ไม่ใช่การผลิตด้วยตนเอง แต่คือการควบคุมเงื่อนไขที่คนอื่นต้องยอมรับจึงจะได้รับอนุญาตให้ผลิตได้ พวกเขาทำเช่นนี้ผ่านการถือครองที่ดินแบบเจ้าที่ดิน (landlordism) ผ่านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และผ่านกฎหมายที่จำกัดการให้สินเชื่อไว้กับผู้ที่มีทุนสะสมจำนวนมาก นอกจากนี้ พวกเขายังได้รับการเอื้อประโยชน์เพิ่มเติมจากต้นทุนการผลิตที่ถูกเสกสร้างให้ถูกลง การผลักต้นทุนทางสังคมให้รัฐรับผิดชอบ การจำกัดการแข่งขันโดยรัฐ และการคุ้มครองหรือยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายจากความเสียหายที่พวกเขาก่อขึ้น
ประเด็นหนึ่งที่ผมเห็นแย้งกับม็อกซอนก็คือ มหาเศรษฐีไม่ได้ “กักตุน” ความมั่งคั่ง เพราะลำพังปริมาณความมั่งคั่งที่พวกเขามีก็นับว่ามากเกินกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าต่างๆ ต่อให้มีชีวิตหลายชั่วอายุคน สิ่งที่พวกเขาทำคือการใช้ความมั่งคั่งเหล่านั้นเพื่อควบคุมการจัดสรรทรัพยากรมากกว่า
ผู้แก้ต่างให้ทุนนิยมและมหาเศรษฐีมักบอกว่า แรงงานจะไม่สามารถสร้างคุณค่าใดๆ ได้เลย หากไม่มี “ทุน” ที่นักลงทุน “มีส่วนร่วม” หรือ “ลงทุน” เข้าไป พวกเขาอ้างว่านายทุนเป็นคน “จัดหา” เครื่องจักรให้แรงงานใช้ในการผลิตสินค้า แต่คำกล่าวนี้หมายถึงอะไร นายทุนเป็นคนสร้างเครื่องจักรเหล่านั้นด้วยตนเองหรือ เครื่องจักรถูกสร้างขึ้นจากการเอาเงินสดมากองเรียงกันเหมือนอิฐหรือ เปล่าเลย
วัตถุดิบทางกายภาพทุกชนิดที่เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ล้วนเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่ถูกสกัดจากผืนดินและดัดแปลงด้วยกำลังแรงงานของมนุษย์ หรือไม่ก็เป็นผลผลิตของคนกลุ่มต่างๆ ที่สืบทอดต่อกันด้วยการลงกำลังแรงงานของตนไปในผลผลิตด้วยกำลังแรงงานของคนก่อนหน้า ทุกอย่างเกิดจากของขวัญของธรรมชาติและแรงงานมนุษย์ ทั้งแรงงานทางกายและสติปัญญา ไม่มีอะไรนอกเหนือจากนั้นเลย “ทุน” ของนายทุนไม่ได้เป็นอะไรอื่นนอกจากการอ้างความเป็นเจ้าของซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยสังคม (socially constructed ownership claim) ผ่านสิทธิ์ในการควบคุมการจัดสรรผลผลิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างกลุ่มแรงงานต่างๆ การ “จัดหา” ทุนของนายทุนไม่ได้ต่างอะไรกับการ “จัดหา” ที่ดินให้ชาวนาโดยเจ้าที่ดินยุคฟิวดัล หรือการ “จัดหา” เครื่องจักรและวัตถุดิบให้กับแรงงานโดยกรรมาธิการอุตสาหกรรมของสหภาพโซเวียต
ในทุกสังคมตลอดประวัติศาสตร์ มูลค่าทุกอย่างล้วนถูกสร้างขึ้นจากแรงงานมนุษย์ที่กระทำต่อของขวัญจากธรรมชาติ สิ่งที่อุดมการณ์ต่างๆ ต่อสู้แย่งชิงกันก็มีเพียงเรื่องเดียว คือ ใครจะเป็นผู้มีสิทธิ ซึ่งสังคมกำหนดขึ้น ในการจัดสรรส่วนเกินของมูลค่าเหล่านั้น จนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่นับข้อยกเว้น เช่น รัสเซียยุคปฏิวัติก่อนที่เลนินจะยุบคณะกรรมการแรงงาน สเปนยุคปฏิวัติก่อนที่รัฐบาลที่ครอบงำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จะล้มเลิกระบบการจัดการตนเองของแรงงาน รวมถึงชิอาปัส (Chiapas) และโรจาวา (Rojava) ยังไม่เคยมีสังคมมนุษย์ใดภายหลังการกำเนิดของรัฐที่ปราศจากชนชั้นปรสิต ซึ่งมั่งคั่งขึ้นจาก “การมีส่วนร่วมในการผลิต” ซึ่งแท้จริงแล้วคือการยอมให้การผลิตเกิดขึ้นโดยไม่ใช้กำลังเข้าไปขัดขวาง
เป้าหมายของอนาธิปไตยคือสังคมที่ปราศจากชนชั้นปรสิต.
C4SS relies entirely on donations. If you want to see more translations like this, please consider supporting us. Click here to see how