การเดินหนีและการส่งเสียง

โดย เควิน คาร์สัน
เควิน คาร์สัน. บทความต้นฉบับ. Exit and Voice. 7 พฤษภาคม 2025. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin

แนวคิดอิสรเสรีนิยมฝ่ายขวากระแสหลักมีประวัติศาสตร์ยาวนานในการให้ความสำคัญกับสิ่งที่อัลเบิร์ต โอ.

เฮิร์ชแมน เรียกว่า “การเดินหนี” (exit – หรือความสามารถในการหลีกเลี่ยงอำนาจรัฐผ่านการย้ายถิ่นหรือการหลบเลี่ยง) มากกว่า “การส่งเสียง” (voice – หรือการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของระบอบการเมืองการปกครองที่เราใช้ชีวิตอยู่)

แนวคิดเรื่องการเดินหนีที่ว่าไม่ใช่เรื่องผิด อย่างที่ชาร์ลส์ จอห์นสันเคยชี้ไว้ ในรัฐที่กดขี่ การหลบเลี่ยงนโยบายที่เป็นอันตรายหรือขัดแย้งกับหลักการของเรานั้นมักมีต้นทุนทางปฏิบัติน้อยกว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงนโยบายเหล่านั้นผ่านกระบวนการทางการเมือง

วิสัยทัศน์ของอิสรเสรีนิยมฝ่ายซ้าย ไม่ว่าจะเป็นแบบอนาธิปไตยหรือสังคมนิยมเสรี มักจะรวมเอาทั้ง “การเดินหนี” และ “การส่งเสียง” เข้าไว้ด้วยกันในสัดส่วนที่สมดุล แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือ การอำนวยการให้เกิดความร่วมมือแบบไม่ต้องขออนุญาต (permissionless coordination) ให้ได้มากที่สุด ผ่านการจัดองค์กรแบบแนวราบหรือการประสานงานโดยไม่ต้องสื่อสารโดยตรง (stigmergic organization) พร้อมทั้งรับประกันว่า ในทุกกรณีที่จำเป็นต้องมีนโยบายบางอย่างที่ต้องอาศัยข้อตกลงร่วมกัน ทางออกในการตัดสินใจคือกระบวนการแบบประชาธิปไตย ตัวอย่างหนึ่งของโมเดลนี้คือระบบฟีลี (phyle) ของขบวนการลาส อินดิอาส (Las Indias) ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นเครือข่ายแนวราบระดับโลก ประกอบด้วยเขตชุมชนท้องถิ่นอิสระที่สมาชิกในแต่ละพื้นที่ทำงานร่วมกันในลักษณะสหกิจ (cooperative work teams) และปกครองตนเองผ่านประชาธิปไตยทางตรง

ปัญหาอยู่ที่กลุ่มฝ่ายขวาซึ่งมีท่าทีต่อต้านประชาธิปไตยอย่างฝังราก และเลือกจะยึดการเดินหนีเป็นทางออกโดยปฏิเสธการส่งเสียงแทบทั้งหมด แม้คนกลุ่มนี้มักนิยามตนเองว่าเป็น “นักอิสรเสรีนิยม” แต่โลกที่จัดระเบียบด้วยหลักการของการเดินหนีเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีประชาธิปไตยในสถานที่ที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่จริง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเลยนั้น ไม่อาจสร้างอิสรภาพที่แท้จริงได้ ไม่ว่าสังคมนั้นจะกระจายอำนาจแค่ไหน ไม่ว่ามันจะเปิดให้ร่วมมือกันได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจัดองค์กรโดยไม่ต้องสื่อสารกันโดยตรงมากเพียงใด ก็ยังมีโหนดบางโหนดที่ไม่อาจลดทอนลงได้ อาทิ สถานที่ทำงาน ระบบสาธารณูปโภคหรือโครงข่ายพลังงานขนาดเล็ก ที่อยู่อาศัยแบบรวมกลุ่ม ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องบริหารจัดการภายใต้นโยบายเดียวร่วมกัน ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่นอกเหนือจากการส่งเสียง คือการเปลี่ยนทุกโหนดเหล่านั้นให้กลายเป็นอาณาเขตแบบศักดินา ที่การตัดสินใจทุกอย่างสะท้อนเจตจำนงของเจ้าของโหนดเพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆ เป็นเพียงคนในบังคับที่จะมีสิทธิเพียงแค่ยอมอยู่ต่อหรือเดินจากไป

เรามองเห็นเรื่องนี้ได้ชัดในโลกจริง ผ่านแนวโน้มแบบเผด็จการจริงๆ ของกลุ่มผู้สนับสนุนโมเดลการเดินหนีรายใหญ่ที่สุด ในทางปฏิบัติ โมเดลแบบนี้มักเสื่อมสภาพกลายเป็นระบบศักดินาเทคโนโลยี (techno-feudalism) อย่างรวดเร็ว หรือเผลอๆ ยังอาจได้รับการออกแบบมาให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

แนวทางที่อ่อนที่สุดคือโครงการอย่างการตั้งเมืองเฉพาะกิจ (charter cities) ที่ผลักดันโดยไบรอัน โดเฮอร์ตี้แห่ง Reason ภายใต้โครงสร้างที่คนส่วนใหญ่น่าจะมองว่าเหมือนกับโลกดิสโทเปียในนิยายไซเบอร์พังก์นี้ นักลงทุนและกลุ่มผู้สนับสนุนที่ให้ทุนตั้งต้นและลงทุนอย่างต่อเนื่องจะเป็นผู้กำหนดกฎหมายที่ควบคุมผู้คนซึ่งอยู่อาศัยและทำงานในชุมชนนั้นๆ “เสรีภาพ” สำหรับเจ้าของ คือระบบศักดินาสำหรับทุกคนที่เหลือ

แนวทางอื่นๆ นับจากจุดนี้ไปจะลื่นไถลเข้าสู่ทิศทางอันมืดมนภายใต้แนวคิดปฏิกิริยาใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
เราเห็นได้จากแนวคิด “แพตช์เวิร์ก” (patchwork) ของเคอร์ติส ยาร์วิน (หรือที่รู้จักกันในชื่อ เม่งจื่อ โมลด์บั๊ก) และ “รัฐเครือข่าย” (network state) ของบาลาจี ศรีนิวาสัน รวมถึงคนในซิลิคอนวัลเลย์อย่างปีเตอร์ ทีล
และอีลอน มัสก์ ที่สนับสนุนวาระเหล่านี้ รวมถึงนักการเมืองอย่างเจดี แวนซ์ ที่แฝงตัวมาทำหน้าที่ผลักดันแนวคิดนี้ออกสู่สังคม

ทีล ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า “นักอิสรเสรีนิยม” เคยประกาศไว้ว่า “ผมไม่เชื่ออีกแล้วว่าอิสรภาพและประชาธิปไตยจะไปด้วยกันได้” ทว่าภายใต้ภาพฝันเกี่ยวกับ “อิสรภาพ” ของทีล อิสรภาพเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่สำหรับผู้ที่ไม่มีทุนพอจะตั้งชุมชนล้อมรั้วเหมือนในนิยาย Snow Crash หรือตั้งรัฐของตัวเองได้ ก็คืออิสรภาพในการเลือกว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเหนือหัวแห่งศักดินาเทคโนโลยีพระองค์ไหน โมลด์บั๊กเคยประกาศไว้อย่างไม่สะทกสะท้านถึงภาพฝันแบบเผด็จการในแนวคิด แพตช์เวิร์ก ของเขาว่า

แนวคิดพื้นฐานของแพตช์เวิร์ก ก็คือ เมื่อรัฐบาลห่วยๆ ที่เราสืบทอดมาจากอดีตถูกทำลายลง มันควรถูกแทนที่ด้วยใยแมงมุมระดับโลกที่ประกอบด้วยประเทศเอกราชขนาดจิ๋วสักสิบหรือแม้แต่หลายร้อยหลายพันแห่ง แต่ละแห่งปกครองโดยบริษัทมหาชนของตนเองโดยไม่ต้องสนใจความเห็นของผู้อยู่อาศัยเลย ถ้าประชาชนไม่ชอบรัฐบาลของตน ก็สามารถย้ายไปอยู่ที่อื่นได้และควรทำเช่นนั้นด้วย ระบบนี้ออกแบบให้มีแต่การ “เดินหนี” โดยไม่มีการ “ส่งเสียง”

ข้อเสนอนี้สะท้อนภาพฝันแบบฮอปเปียนิสม์ (Hoppeanism) ซึ่งบังเอิญเป็นแรงบันดาลใจให้กับยาร์วิน

แนวคิดนี้แบ่งประเภทมนุษย์ออกเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือผู้บุกรุก

โลกที่มีแต่การเดินหนีและไม่มีวิธีให้ส่งเสียงขัดแย้งกับอิสรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ การมีอำนาจตัดสินใจในชีวิต (human agency) และการเติบโตอย่างมีศักดิ์ศรี (human flourishing) ซึ่งถือเป็นอิสรภาพอันแท้จริง จำต้องอาศัยมากกว่าแค่สิทธิในการเลือกใช้ชีวิตภายใต้เจ้าที่ดินหรือนายหัวที่คุณรังเกียจน้อยที่สุด อิสรภาพที่แท้จริงหมายถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคุณในที่ที่คุณอาศัยอยู่ ณ เวลานี้.

C4SS relies entirely on donations. If you want to see more translations like this, please consider supporting us. Click here to see how

Anarchy and Democracy
Fighting Fascism
Markets Not Capitalism
The Anatomy of Escape
Organization Theory