โดย เควิน คาร์สัน
เควิน คาร์สัน. บทความต้นฉบับ: A Right-Libertarian Myth Meets Reality. 3 มีนาคม 2025. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin
ตามการตีความของไมเคิล โรเบิร์ตส์ รายงานที่เสนอต่อสหภาพยุโรปในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นำไปสู่การตั้งคำถามครั้งใหญ่เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการลงทุนของกลุ่มก้อนการเมืองสายอิสรเสรีนิยมฝ่ายขวา
จุดยืนหลักของกลุ่มอิสรเสรีนิยมฝ่ายขวา คือการมองว่าแรงงานต้องพึ่งพิงการลงทุน การลงทุนไม่ว่าจะในรูปของเครดิตหรือตราสารทุนล้วนแต่มีที่มาจากการสั่งสมทุนในอดีต ส่วนกำไรและดอกเบี้ยก็คือผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน เป็นผลตอบแทนจากการที่นายทุนงดเว้นจากการใช้เงินก้อนนั้น เป็นผลิตภาพส่วนเพิ่มของทุน หรือเป็นอะไรบางอย่างที่ปรับเปลี่ยนไปจากแนวคิดเหล่านี้เล็กๆ น้อยๆ
สองร้อยกว่าปีที่แล้ว โธมัส ฮอดจ์สกิน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอังกฤษ ผู้เป็นทั้งนักเสรีนิยมสายคลาสสิกและนักสังคมนิยมในยุคต้นๆ เขียนไว้หนังสือเรื่อง The Natural and Artificial Right of Property Contrasted ว่า เมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ ณ ที่ดินผืนนั้น (absentee land ownership) ที่ดินที่สร้างผลิตผลได้เพียงพอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของครอบครัวหนึ่งๆ จึงไม่ถูกใช้งาน เว้นแต่เมื่อมันสามารถสร้างผลิตผลเพียงพอที่จะจ่ายเป็นค่าเช่าให้กับเจ้าของที่ดินด้วยเท่านั้น ทำนองเดียวกัน เขาเขียนไว้ใน Popular Political Economy ว่า “มีผู้กล่าวอ้าง…ว่ากำลังแรงงานไม่ก่อให้เกิดผลผลิต และที่จริงแล้วแรงงานจะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานเลย เว้นแต่ว่าเมื่อแรงงานของเขาไม่เพียงชดเชยสิ่งที่เขาใช้หรือบริโภคไปและเลี้ยงดูตนเองให้สุขสบายได้ แต่ยังต้องสร้างกำไรให้กับนายทุนได้ด้วย…”
เอกสารของสหภาพยุโรปดูเหมือนจะสนับสนุนหลักการดังกล่าว รายงานฉบับนี้ (ชื่อว่า “อนาคตของความสามารถในการแข่งขันของยุโรป”) จัดทำโดย มาริโอ ดรากี อดีตนายธนาคารของโกลด์แมน แซคส์, อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอิตาลี, อดีตประธานธนาคารกลางยุโรป และอดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี ตามคำร้องขอของคณะกรรมาธิการยุโรป และเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน
รายงานชิ้นนี้พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของยุโรปที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากความล้มเหลวในการเพิ่มผลิตภาพ และการเติบโตของผลิตภาพที่ต่ำก็ “มีสาเหตุหลักมาจากระดับการลงทุนที่ต่ำในภาคเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดผลผลิตโดยตรง โดยเฉพาะในเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่องว่างของสัดส่วนการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลผลิตต่อ GDP ระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป อยู่ที่ราว 1.5% ของ GDP ต่อปี” การลงทุนที่ต่ำนี้เกิดจาก “อัตราผลตอบแทนของทุนในยุโรปที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ” ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากต้นทุนของการจัดหาเงินทุนภาคเอกชนที่สูงกว่านั่นเอง และเนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่ต่ำนี้ การลงทุนจึงไม่สามารถให้ “ผลตอบแทนที่ภาคทุนในยุโรปต้องการเพื่อนำไปเพิ่มการลงทุนที่ก่อให้เกิดผลผลิตได้ ต่างจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ทางการเงิน” (เน้นโดยผู้เขียน)
โรเบิร์ตส์ตั้งข้อสังเกตว่า “ทางออกของดรากีก็คือการสนับสนุนภาคธุรกิจแบบเดิมๆ นั่นเอง กล่าวคือ รัฐบาลจะต้องออกมาตรการจูงใจทางการเงินและการคลังเพื่อ ‘กระตุ้น’ ให้นายทุนยอมลงทุน” การลดต้นทุนการจัดหาเงินทุนภาคเอกชน เช่น ผ่านโครงการสหภาพตลาดทุน (Capital Markets Union) เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ “แรงจูงใจทางการคลังที่สามารถปลดล็อกการลงทุนจากภาคเอกชน” ควบคู่ไปกับ การลงทุนโดยตรงจากภาครัฐ
ดังนั้นรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปจึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณสาธารณะเพิ่มเติม แต่ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นตามมา เพราะรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปกลางและตะวันตก มีแรงกดดันอย่างมากที่จะต้อง “รักษาสมดุลงบประมาณ” ไม่เพิ่มหนี้สาธารณะ และไม่ขึ้นภาษีมากเกินไป ทั้งยังติดข้อจำกัดของกฎระเบียบทางการคลังของสหภาพยุโรปที่ “ฝ่าฝืนไม่ได้”
ดรากีเสนอให้มีการ “กู้ยืมร่วมกัน” (joint borrowing) มากขึ้น กล่าวคือให้สหภาพยุโรปออกพันธบัตรที่สหภาพยุโรปเป็นผู้ค้ำประกัน (EU-backed debt) เพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ แต่แนวคิดนี้ยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามในสหภาพยุโรปเอง…
ดรากียังเสนอให้เพิ่มภาษีในระดับสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มขนาดของคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งในปัจจุบันมีขนาดเล็กและมุ่งเน้นการใช้จ่ายในด้าน “การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม” (social cohesion) การให้เงินอุดหนุนระดับภูมิภาคและภาคเกษตรกรรม มากกว่าจะใช้งบประมาณเพื่อ “การลงทุนที่ก่อให้เกิดผลผลิตโดยตรง” ดรากีต้องการปรับลดงบประมาณสาธารณะในด้านเหล่านี้ แล้วโยกย้ายเงินไปลงทุนในเทคโนโลยีแทน
รายงานฉบับนี้ยังมีกราฟที่แสดงให้เห็นว่า งบประมาณวิจัยและพัฒนา (R&D) ของสหภาพยุโรปมีขนาดมากกว่าของรัฐบาลกลางสหรัฐถึงระดับหลักสิบเท่า
โดยสรุปก็คือ ผู้ที่ถือครองความมั่งคั่งในระบบทุนนิยมจะไม่ยอมใช้ทรัพยากรของตนไปกับการเพิ่มการผลิตที่แท้จริง หากอัตรากำไรยังไม่สูงพอ พวกเขาจะนำเงินไปลงในเศรษฐกิจฟองสบู่ที่เน้นการเก็งกำไร เช่น การเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์ (ที่เรียกรวมกันว่า FIRE economy) ซึ่งเป็นพฤติกรรมเดียวกับที่เจ้าของที่ดินที่ไม่ได้อาศัย ณ ที่ดินของตน ปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่าเพื่อการเก็งกำไรจนกว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงพอ
สังเกตให้ดี เงินของพวกเขานั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย พวกเขาไม่ได้ใช้เงินเหล่านั้นสร้างเครื่องจักรผลิตสินค้า กระบวนการผลิตทั้งหมดเกิดขึ้นจากแรงงานมนุษย์ทั้งสิ้น และแม้แต่ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตทุกชิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร วัตถุดิบ หรือของยังชีพที่แรงงานต้องใช้ ต่างก็เป็นผลผลิตของแรงงานมนุษย์ที่นำของขวัญจากธรรมชาติมาแปรรูปทั้งสิ้น
กิจการที่เป็นของแรงงานและบริหารโดยแรงงานเองสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและเครื่องจักรระหว่างกัน พร้อมกับใช้เพียงแค่หน่วยบัญชีที่อิงกับเงินดอลลาร์ เพื่อใช้ติดตามยอดคงเหลือที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละกิจการและแต่ละบุคคลภายในเครือข่ายเครดิต แต่ระบบนี้กลับเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะข้อกำหนดเกี่ยวกับใบอนุญาตและเงินทุนของธนาคาร ล้วนตั้งอยู่บนมายาคติที่ว่า เครดิตจะถูก “ปล่อยกู้” ได้ก็ต่อเมื่อมีเงินออมจากอดีตมารองรับ ดังนั้น หน้าที่ในการปล่อยกู้จึงกลายเป็นสิทธิผูกขาดทางกฎหมายของผู้ถือครองความมั่งคั่งที่สั่งสมมา ความมั่งคั่งที่สั่งสมมานี้ไม่ใช่อะไรนอกเสียจากกองกระดาษที่ใช้อ้างสิทธิ์ในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นผลผลิตของแรงงานมนุษย์ที่นำของขวัญจากธรรมชาติมาแปรรูปทั้งสิ้น แต่เพราะการอ้างสิทธิ์ในการจัดสรรทรัพยากรนี้เอง ชนชั้นผู้ให้เช่า (rentier classes) จึงได้รับอำนาจให้ผูกขาดการกำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรในสังคมอย่างถูกกฎหมาย
และเพราะระบบนี้ แม้จะมีทักษะ แรงงาน และทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิตพร้อมใช้งานอยู่ครบถ้วน ขาดเพียงแค่เครดิตเพื่อขับเคลื่อนมันเท่านั้น การผูกขาดเครดิตตามกฎหมายกลับเปิดช่องให้กลุ่มชนชั้นนำผู้มั่งคั่งสามารถจับทรัพยากรทั้งหมดไว้เป็นตัวประกัน จนกว่าจะได้รับค่าไถ่หรือผลตอบแทนที่สูงพอ
C4SS relies entirely on donations. If you want to see more translations like this, please consider supporting us. Click here to see how