ความเขลาอย่างมีเหตุมีผล ความบิดเบี้ยวทางความคิด และอนาธิปไตย

โดย เควิน คาร์สัน
เควิน คาร์สัน. บทความต้นฉบับ. Rational Ignorance, Cognitive Distortion, and Anarchism. 24 พฤษภาคม 2025. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin

ในทฤษฎีการเลือกสาธารณะ (public choice theory) แนวคิดเรื่อง “ความเขลาอย่างมีเหตุมีผล” (rational ignorance) หมายถึงการเลือกที่จะไม่หาความรู้ให้กับตัวเองในบางประเด็น เมื่อต้นทุนของการแสวงหาความรู้สูงกว่าผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันสูงกว่าความน่าจะเป็นที่คะแนนเสียงของตนจะส่งผลต่อผลของการเลือกตั้ง หรือสูงกว่าความน่าจะเป็นที่อิทธิพลทางการเมืองของตนจะเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจของนักการเมืองได้ แนวคิดนี้ยังสอดคล้องกับข้อจำกัดของเวลาและพลังงานของมนุษย์ โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนย่อมมีแนวโน้มที่จะทุ่มเททรัพยากรเหล่านั้นให้กับครอบครัว งาน เพื่อน และเพื่อนบ้าน มากกว่าที่จะใส่ใจกับนโยบายสาธารณะ

โชคร้ายที่การเลือกไม่หาความรู้เกี่ยวกับเรื่องบางเรื่อง ไม่ได้หมายความว่าคนเราจะไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เมื่อไรที่เรามีแนวโน้มที่เข้าใจได้ในการจำกัดความพยายามของตัวเองในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประเด็นทางสังคมหรือนโยบายสาธารณะ เราก็มักมีความเห็นที่รุนแรงเกี่ยวกับประเด็นระดับชาติบนฐานของข้อมูลที่มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัดนั้นตามไปด้วย ด้วยเหตุฉะนี้ คนมากมายจึงมีความเห็นรุนแรงเชิงลบ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือมีอคติ ต่อกลุ่ม LGBT คนผิวสี และผู้อพยพ

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาวันนี้หลังจากส่งข้อความพูดคุยกับเพื่อนคนหนึ่งเกี่ยวกับเจ้านายของเธอ เธอเล่าว่า

“เขาเป็นคนที่มีข้อเสียเต็มไปหมด เราสองคนมีความเชื่อที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง แต่เราต่างไม่พูดถึงเรื่องนั้นกัน เขาทำดีกับฉันอยู่บ่อยๆ เพื่อตอบแทนเขา ฉันเลยคอยเตือนเขาเป็นระยะๆ ให้ดื่มน้ำตลอดทั้งวัน นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วที่ฉันสามารถทำให้ MAGA สกปรกๆ คนหนึ่งได้”

ผมให้ความหวัง บอกไปว่าข้อเท็จจริงที่ว่าคนบางคนดีได้กว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่ออาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งให้มีความหวัง เธอตอบกลับมาว่า

“ฉันไม่เข้าใจจิตวิทยาเบื้องหลังเรื่องนี้สักนิด…คนพวกนี้จะช่วยใครก็ได้จริงๆ ตอนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ พวกเขาจะขับกระบะยกสูง รถจี๊ป เรือ อะไรต่อมิอะไรมาให้ความช่วยเหลือ แต่พอวิกฤตผ่านพ้นไป วงจรของความเกลียดชังก็กลับมาอีก”

น่าประหลาดใจที่บ่อยครั้ง เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคนชายขอบ ผู้คนมักมีท่าทีตอบสนองในลักษณะที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความเชื่อนามธรรมที่พวกเขามีต่อคนกลุ่มนั้น ซึ่งหล่อหลอมขึ้นจากอุดมการณ์ทางการเมืองหรือจุดยืนที่พวกเขายึดถือในวาทกรรมทางการเมือง

ลองนึกถึงตัวอย่างของผู้ที่เคยกระตือรือร้นลงคะแนนเสียงให้ทรัมป์เพราะคำมั่นสัญญาในการเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายจำนวนมาก แต่เมื่อได้เห็นใบหน้าของมนุษย์จริงๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของนโยบายนี้แล้วกลับรู้สึกตกใจระคนผิดหวัง

หรืออีกตัวอย่างคือ สมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐมอนแทนา 29 คนจากพรรครีพับลิกัน ที่เปลี่ยนใจลงมติคัดค้านร่างกฎหมายต่อต้านคนข้ามเพศ หลังจากได้ฟังสุนทรพจน์สะเทือนใจจากสมาชิกสภาผู้แทนสองคนที่เป็นคนข้ามเพศ ผมจำไม่ได้ชัดๆ ว่าเคยอ่านเรื่องนี้ที่ไหน แต่มีชายชราคนหนึ่งที่เดินทางมาเพื่อให้การสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ในตอนแรก ทว่าในที่สุดกลับกล่าวคำขอโทษและประกาศว่าเขาเปลี่ยนใจแล้ว และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าวอีกต่อไป อันเป็นผลจากการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในบริเวณพื้นที่รอเข้าให้การ มีคนไม่น้อยที่แสดงความชิงชังรังเกียจต่อคนอื่นแม้เมื่อได้พบปะกันตัวต่อตัว แต่ก็มีอีกหลายคนที่แม้จะมีความเชื่อที่ชิงชังรังเกียจต่อคนบางกลุ่มแบบเหมารวม แต่กลับปฏิบัติต่อมนุษย์ที่ปฏิสัมพันธ์ด้วยในชีวิตด้วยด้วยจิตใจที่ดีงาม

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ผมไม่คิดว่ามนุษย์เราในฐานะสิ่งมีชีวิตตระกูลวานรที่วิวัฒนาการมาในสภาพแวดล้อมที่ปฏิสัมพันธ์และการตัดสินใจส่วนใหญ่ของเราเกี่ยวข้องกับกลุ่มขนาดเล็กที่มีคนอยู่ไม่กี่สิบคน มีความพร้อมที่จะรับมืออย่างเป็นเหตุเป็นผลกับประเด็นระดับทวีปหรือระดับโลกปริมาณมหาศาล บนฐานของความเป็นจริงที่ระบบการติดต่อสื่อสารระดับโลกถ่ายทอดต่อมาให้เราในรูปสัญลักษณ์ (symbolically-mediated) มนุษย์มีแนวโน้มที่จะมีความบิดเบือนและมืดบอดทางความคิด อาการนี้จะร้ายแรงยิ่งขึ้นเมื่อเราถูกแยกออกจากประสบการณ์ตรง เมื่อการรับรู้ของเราเกี่ยวกับคนอื่นโดยมากแล้วถูกกำกับด้วยชุดอุดมการณ์นามธรรมที่เราได้รับต่อมาจากกลไกทางวัฒนธรรม เช่น OANN หรือ Radio Rwanda หาใช่มาจากประสบการณ์ตรงจากการปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาตั้งแต่เกิดจนเติบโตขึ้นเรื่อยมา ผลที่ได้ก็มักจะเป็นพิษเป็นภัยเสียเป็นส่วนมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมักพบความแตกต่างอย่างรุนแรงระหว่างวิธีที่ผู้คนปฏิบัติต่อกันในบริบทของปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์โดยตรง กับวิธีที่พวกเขาเสนอให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นในฐานะสมาชิกของกลุ่มนามธรรม

เหตุผลอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากต้นทุนทางสังคมและจิตวิทยาที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเราต้องรับมือกับกลุ่มคนนามธรรมที่อยู่ห่างไกลออกไปซึ่งเรารับรู้ผ่านระบบสัญลักษณ์ อย่างไรก็ดี เมื่อเราเจอกันตัวต่อตัวกับสมาชิกของกลุ่มที่ตนไม่ได้สังกัด (outgroup) ต้นทุนดังกล่าวก็จะยิ่งเด่นชัดสะดุดตา

นี่คือเหตุผลหนึ่งว่าทำไม ในฐานะนักอนาธิปไตย ผมจึงเชื่อว่าเราจำเป็นต้องถ่ายโอนกลไกและการตัดสินใจที่กระทบต่อชีวิตเราให้กับหน่วยงานในระดับท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หน่วยงานเหล่านี้ควรเป็นหน่วยที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงในชีวิตประจำวัน เช่น สถานที่ทำงานที่บริหารจัดการด้วยตนเอง และบริการสาธารณะต่างๆ ทั้งนี้ โดยควรมีกลไกประชาธิปไตยทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็นในกรณีที่ต้องอาศัยฉันทามติร่วมกัน ส่วนกลไกการทำงานขนาดใหญ่ใดๆ ที่ยังคงต้องมีอยู่เพื่อรองรับพื้นที่ที่กว้างขวางเกินกว่าที่จะบริหารจัดการในระดับท้องถิ่นได้ กลไกเหล่านั้นก็ควรจัดการผ่านโครงสร้างถาวรที่มีลักษณะเป็นระบบแพลตฟอร์ม (standing platforms) ซึ่งดำเนินการในเชิงบริหารจัดการโดยอัตโนมัติให้มากที่สุด มากกว่าที่จะเป็นกระบวนการทางการเมือง ดังที่แซงต์-ซิมงเคยกล่าวไว้ “แทนที่การปกครองของบุคคล ด้วยการบริหารจัดการของสรรพสิ่ง”

แน่นอน ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าความคิดเชิงนามธรรมหรือเชิงสัญญะเป็นสิ่งไม่ดี หากปราศจากความคิดเหล่านี้ไป วรรณกรรม ดนตรี ศิลปะ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญาก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ปัญหาอยู่ที่การเรียกร้องให้มีการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่ประสบการณ์ตรงถูกแทนที่โดยความเป็นจริงที่เรารับรู้มาอีกทอดหนึ่งผ่านระบบสัญญะล้วนๆ ปัญหายังปรากฏชัดยิ่งขึ้นเมื่อต้องตัดสินว่าเราจะปฏิบัติต่อมนุษย์จริงๆ ที่อยู่ตรงหน้าเราอย่างไร โดยอิงจากหมวดหมู่อุดมการณ์มือสองซึ่งมองพวกเขาในฐานะตัวแทนของกลุ่มนามธรรมเหล่านั้น และมองข้ามความเป็นมนุษย์ของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

เรามักเห็นผู้คนใช้เวลายาวนานและในบางกรณีก็สายเกินไปกว่าจะเรียนรู้ว่า ผู้คนที่พวกเขาเคยมองเห็นเป็นเพียงตัวละครไร้วิญญาณที่ชื่อว่า “ผู้อพยพผิดกฎหมาย” (illegal alien) หรือภายใต้หมวดหมู่ของ “อุดมการณ์ทางเพศ” (gender ideology) เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกัน มันไม่ควรเป็นแบบนี้เลย เราควรเห็นมนุษย์เป็นสิ่งแรก.

C4SS relies entirely on donations. If you want to see more translations like this, please consider supporting us. Click here to see how

Anarchy and Democracy
Fighting Fascism
Markets Not Capitalism
The Anatomy of Escape
Organization Theory