โดย เควิน คาร์สัน เควิน คาร์สัน. บทความต้นฉบับ: Meritocracy is Bullshit 24 กันยายน 2024. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin
ในการสัมภาษณ์ล่าสุดกับจอร์แดน ปีเตอร์สัน อีลอน มัสก์กล่าวว่าค่านิยมข้อหนึ่งของเขาคือ “ระบบให้ค่าตามความสามารถ (meritocracy) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แปลว่าคุณจะก้าวหน้าได้ด้วยทักษะของคุณเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยปัจจัยอื่น”
คำว่า “ระบบให้ค่าตามความสามารถ” มักถูกนำเสนอโดยกลุ่มเสรีนิยมว่าเป็นสิ่งที่ดีหากเรามีมันจริงๆ แตกต่างจากระบบที่ไม่ได้ให้คุณค่าตามความสามารถแบบในปัจจุบัน ระบบปัจจุบันมีข้อบกพร่องตรงที่ไม่สามารถให้โอกาสทางการศึกษาและการฝึกอบรมที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน อีกทั้งความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและค่าจ้างก็ไม่ได้สะท้อนมาตรฐานของทักษะและผลการปฏิบัติงานที่เป็นกลางและปรับใช้ได้ทั่วไป แต่ถึงแม้ว่าระบบจะดำเนินการตามกฎข้อนี้แล้วก็ตาม ระบบให้ค่าตามความสามารถก็ยังอาจไม่ใช่ระบบที่พึงปรารถนา ต่อให้ตัดปัจจัยอื่นๆ ออกไป ระบบให้ค่าตามความสามารถก็ยังเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เพราะมันวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า กรอบเชิงสถาบันที่มีอำนาจครอบงำและมาตรฐานของ “ความคู่ควร” ที่กรอบดังกล่าวกำหนดขึ้นนั้นชอบธรรมโดยไม่ต้องพิสูจน์
สิ่งที่เรียกว่า “ความคู่ควร” หรือ “ทักษะ” ไม่ได้ดำรงอยู่ลอยๆ คนเราสามารถแสดงทักษะก็เมื่อลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น เช่น ทักษะในการปฏิบัติงานบางประเภท แนวคิดเกี่ยวกับ “ทักษะ” ในฐานะลักษณะที่เป็นกลางซึ่งสามารถวัดได้อย่างเป็นกลางนั้นละเลยความจริงที่ว่าหน้าที่ต่างๆ ถูกเลือกโดยผู้มีอำนาจและมอบหมายให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาในบริบทที่เป้าหมายโดยรวมของสถาบันถูกกำหนดโดยผู้ที่มีผลประโยชน์ในระบบนั้น
จริงๆ แล้ว ผู้คนถูกประเมิน “ความคู่ควร” ตามประสิทธิภาพในการรับใช้ระบบอำนาจที่มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การแสวงหาความมั่งคั่ง และตาม “ทักษะ” ในการปฏิบัติงานที่จำเป็นต่อการทำให้ระบบอำนาจนี้ดำเนินต่อไปได้
ลองนึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ทำงานตามหลักการของระบบให้ค่าตามความสามารถและคอยประเมิน “ทักษะ” การทำงานของเจ้าหน้าที่ในค่ายฯ ถ้าคิดดูให้ดี เราจะเห็นได้ทันทีเลยว่า “ระบบให้ค่าตามความสามารถ” ในฐานะชุดมโนทัศน์ชุดหนึ่งไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย ถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการประเมินความชอบธรรมของงานที่ต้องทำ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากงานเหล่านั้นเสียก่อน
ลองคิดถึงอาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนสูงที่สุดในระบบทุนนิยมของอเมริกา สัดส่วนใหญ่ๆ ของอาชีพเหล่านี้สะท้อนถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนมากบริหารจัดการในลักษณะลำดับชั้นเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ไม่ต้องอยู่ที่นั่นจริงๆ วิธีการต่างๆ ที่อำนาจจากเบื้องบนบิดเบือนการไหลของข้อมูลสู่ลำดับชั้นต่างๆ ทำให้การตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงบนยอดพีระมิดมักแย่กว่าการตัดสินใจของคนทำงานที่มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับกระบวนการผลิต หรือแย่กว่าผู้ที่ทำงานขึ้นตรงต่อพวกเขา แต่เพราะธุรกิจแบบทุนนิยมซึ่งเจ้าของไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่นจริงๆ ไม่อาจเสี่ยงให้คนงานควบคุมการผลิตได้โดยตรงเนื่องจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ เหตุเพราะคนงานรู้ดีว่าประโยชน์โพดผลใดๆ ที่พวกเขาทำอันส่งผลให้ผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้นย่อมจะถูกผู้บริหารแย่งชิงไปในรูปของการเร่งการผลิตให้มากขึ้นหรือการลดจำนวนพนักงานลง
ด้วยเหตุผลคล้ายกันนี้ จึงเกิดการเพิ่มจำนวนขึ้นของงานด้านการตรวจสอบบัญชี การเฝ้าระวัง และงานบริหารจัดการระดับล่างๆ อันเป็นผลจากความไม่สมเหตุสมผลพื้นฐานเดียวกันนี้ กล่าวคือ บริษัทไม่สามารถวางใจให้คนงานทำงานอย่างเต็มที่หรือใช้ความรู้ตามสถานการณ์ของตนอย่างมีประสิทธิภาพได้ในเมื่อพวกเขารู้ว่าผลประโยชน์ของตนขัดแย้งโดยตรงกับผลประโยชน์ของผู้บริหารองค์กร นี่คือเหตุผลที่โรงงานไม้อัดแบบสหกรณ์ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้จัดการระดับปฏิบัติงาน (front-line managers) เพียงประมาณหนึ่งในสี่เมื่อเทียบกับโรงงานที่นายทุนเป็นเจ้าของ เมื่อคนงานเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารโรงงาน ผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาก็เพียงพอแล้วที่จะจูงใจให้พวกเขาทำงานอย่างเต็มที่ ใช้ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และลงโทษคนที่เกียจคร้าน
และด้วยเหตุผลทำนองนี้อีกเช่นกัน สังคมในภาพใหญ่จึงเต็มไปด้วยแรงงานรักษาความปลอดภัยประเภทต่างๆ อาทิ ตำรวจ ยามรักษาความปลอดภัย ทนายความสัญญาจ้าง เพื่อชดเชยความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดจากความมั่งคั่งที่กระจุกตัวและการเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยผู้ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าวาดเป็นแผนภาพเวนน์ไดอะแกรม เราจะเห็นว่างานเหล่านี้ทั้งหมด หรือก็คือ “ทักษะ” ในการปฏิบัติงานซึ่งเป็นพื้นฐานในการประเมิน “ความคู่ควร” กับสิ่งที่เดวิด เกรเบอร์เรียกว่า “อาชีพเฮงซวย” (bullshit jobs) ทับซ้อนกันอย่างมหาศาล
งานส่วนมากที่ผมกล่าวถึงไปคืองานระดับรองๆ ของงานที่ก่อให้เกิดการผลิตจริง และเพียงแค่สะท้อนถึงความไร้เหตุผลของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของและการกำกับดูแลกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตาม การจัดองค์กรและโครงสร้างของการผลิตเองก็สะท้อนถึงทางเลือกเพียงทางเดียวจากทางเลือกที่เป็นไปได้อีกหลายทาง และตัวมันเองก็ถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของสถาบันและชนชั้นเป็นหลัก มากกว่าจะเป็นมาตรฐานทั่วไปที่วัดกันด้วย “ประสิทธิภาพ”
ส่วนใหญ่แล้ว การผลิตสินค้าครั้งละมากๆ (mass production) จะมี “ประสิทธิภาพ” มากกว่าการผลิตแบบกระจายศูนย์ในระดับชุมชน เนื่องจากแรงจูงใจทางการตลาดและโครงสร้างราคาที่บิดเบือนโดยเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลจากรัฐต่อต้นทุนปัจจัยการผลิตและการปกป้องธุรกิจประเภทนี้จากการแข่งขัน และเมื่อพิจารณาถึงบทบาทสำคัญของของการผลิตปริมาณมากๆ เราจะพบว่าทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นและได้รับรางวัลนั้นแตกต่างอย่างมากกับทักษะที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ การผลิตสินค้าครั้งละมากๆ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการผลิตที่มีขนาดใหญ่และใช้ทุนสูงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ และมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันดีในชื่อ Taylorism หรือ Fordism ซึ่งมุ่งลดทักษะของคนงานในสายการผลิตและย้ายทักษะและอำนาจการตัดสินใจขึ้นไปยังลำดับชั้นของวิศวกรและผู้จัดการ ในทางตรงกันข้าม ในเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ตามแบบอย่างของภูมิภาคเอมิเลีย-โรมาญา (Emilia-Romagna) ของอิตาลี การผลิตเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรอเนกประสงค์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงและมีขนาดเล็กกว่า ทั้งยังต้องอาศัยคนงานในสายการผลิตที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและมีทักษะการใช้เครื่องจักรที่หลากหลาย
และเนื่องจากการผลิตสินค้าครั้งละมากๆ ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ ใช้ทุนสูง และมีราคาแพง กิจการเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายคงที่ให้ต่ำที่สุด ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจที่จัดการตามความต้องการ เช่น ร้านค้าที่มีค่าใช้จ่ายคงที่ต่ำในเอมิเลีย-โรมาญา เพื่อให้เครื่องจักรทำงานอย่างต่อเนื่อง การผลิตสินค้าครั้งละมากๆ จำเป็นต้องดำเนินการผลิตโดยไม่คำนึงถึงความต้องการ และจากนั้นจึงค่อยจัดระเบียบสังคมเพื่อรับประกันการบริโภคสินค้าที่ผลิตขึ้นในภายหลัง ดังนั้นเราจึงไม่เพียงแต่มีอุตสาหกรรมการตลาดที่เน้นกดดันให้บริโภค (high-pressure marketing industry) และการขนส่งระยะไกล แต่ยังผลิตของเสียเปล่าปริมาณมหาศาลเพื่อจะได้ใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มอุตสาหกรรมทหาร (military-industrial complex) การกระจายตัวของเมืองที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐ (subsidized sprawl) และวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ การออกแบบสินค้าให้หมดอายุขัย (planned obsolescence) และการออกแบบสินค้าให้ด้อยคุณภาพ (shoddy design) ประมาณการณ์กันว่า หากปราศจากการผลิตที่สูญเปล่าและความไร้เหตุผลเช่นนี้แล้ว เราจะสามารถผลิตมาตรฐานการครองชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ด้วยการทำงานเพียง 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ดังนั้น แม้แต่งานเกี่ยวกับการผลิตและกระจายสินค้าโดยตรงส่วนใหญ่ก็อาจนับได้ว่าเป็นอาชีพเฮงซวย ถ้าพูดด้วยภาษาของปีเตอร์ ดรักเกอร์ก็อาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ของสิ่งที่เราเรียกว่า “ทักษะ” หรือ “ความคู่ควร” จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงแค่การทำได้ดีในสิ่งที่ไม่ควรเลยตั้งแต่ต้น
ดังที่ซามูเอล โบวส์ (Samuel Bowles) และเฮอร์เบิร์ต กินทิส (Herbert Gintis) ตั้งข้อสังเกตไว้ในหลายทศวรรษก่อนในหนังสือ Schooling in Capitalist America “ระบบให้ค่าตามความสามารถ” เป็นอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชนชั้นปกครองเอง โดยทำเสมือนว่าโครงสร้างเชิงสถาบันและโครงสร้างชนชั้นในสังคมของเราเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และอ้างว่ามันคือวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการทำสิ่งต่างๆ หรือเพราะผู้คน “ต้องการให้เป็นเช่นนั้น” ทว่าในความเป็นจริง อุดมการณ์นี้ถูกสร้างขึ้นผ่านการใช้อำนาจโดยผู้คนที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการตัดสินใจใช้อำนาจ มันเป็นอุดมการณ์ที่ออกแบบขึ้นมาให้ผู้คนที่ซึมซับค่านิยมของชนชั้นสูงเป็นผู้คอยบริหารจัดการ มันคือระบบที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ด้วยการสร้างกลุ่มคนที่มองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และกลุ่มคนที่มีทักษะในการทำสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการหล่อเลี้ยงระบบนี้ไว้ สิ่งนี้เองคือความหมายของคำว่า “ความคู่ควร”
โดยนิยามแล้ว การออกแบบระบบใหม่ให้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ในลักษณะอื่นๆ เช่น ผลประโยชน์ของพวกเราทั้งหลาย ย่อมถูกนิยามว่าเป็นการกระทำที่ “สุดโต่งและถอนรากถอนโคน” และจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ.
C4SS relies entirely on donations. If you want to see more translations like this, please consider supporting us. Click here to see how