โดย ลอแกน มารี กลิทเทอร์บอมบ์. ลอแกน มารี กลิทเทอร์บอมบ์. บทความต้นฉบับ: Communizing Society With Consumer Cooperatives 28 กันยายน 2024. แปลเป็นภาษาไทยโดย Kin
ในแวดวงชาวอนาธิปัตย์ มีการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนตลาด กับกลุ่มที่สนับสนุนการวางแผนแบบกระจายศูนย์ เช่น เศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (participatory economics) หรือคอมมูนแบบสหพันธ์ (federated communes) ในขณะที่งานของลุดวิก ฟอน มิเซส และฟรีดริช ฮาเย็ค ชี้ให้เห็นปัญหาหลายๆ อย่างของการวางแผนแบบรวมศูนย์โดยรัฐ ข้อวิจารณ์ลักษณะเดียวกันส่วนมากก็สามารถปรับใช้กับการวางแผนแบบกระจายศูนย์ได้เช่นกัน การวางแผนแบบกระจายศูนย์พยายามหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องความรู้ ด้วยการผนวกการมีส่วนร่วมจากทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้ามาในกระบวนการวางแผนโดยตรงแทนที่จะพึ่งพานักวางแผนส่วนกลางให้ตัดสินใจแทน ในขณะที่สหกรณ์คนทำงาน สหภาพแรงงาน สมาคมวิชาชีพ และสมาคมธุรกิจอื่นๆ เปิดโอกาสให้คนทำงานมีส่วนร่วมในการวางแผนเศรษฐกิจ ระบบดังกล่าวยังต้องการการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในรูปแบบของสภาผู้บริโภค (consumer councils) หรือกลุ่มในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ด้วย อย่างไรก็ดี การชักชวนให้ผู้คนเข้าร่วมกับองค์กรเหล่านี้และมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนในฐานะผู้บริโภคอาจเป็นเรื่องยากกว่า เนื่องจากหลายคนต้องการเพียงแค่บริโภคโดยไม่ต้องจัดประชุมอะไรให้มากความ
แน่นอนว่าวิธีแก้ปัญหาทั่วๆ ไปในกรณีนี้ก็คือเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์ ในหนังสือ The People’s Republic of Walmart ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างบรรษัทหลายแห่ง รวมถึงวอลมาร์ท ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการคำนวณและวางแผนการบริโภคและการผลิตภายในองค์กร อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนผู้เขียนจะมองข้ามจุดสำคัญอย่างหนึ่ง นั่นคือ การวางแผนภายในที่ว่าเกิดขึ้นภายในบริบทของระบบตลาดที่ใหญ่กว่า ซึ่งช่วยส่งสัญญาณเพื่อให้การคำนวณและการวางแผนภายในมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การวางแผนอาจมีประสิทธิภาพในบางบริบทและมีประโยชน์บางอย่าง เช่น การลดขยะและเพิ่มประสิทธิภาพภายใน แต่การวางแผนเช่นนี้ไม่สามารถเป็นพื้นฐานเพียงอย่างเดียวของระบบเศรษฐกิจได้ มิฉะนั้นปัญหาการคำนวณจะเริ่มเกิดขึ้น แล้วสหกรณ์ผู้บริโภคเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ด้วย สหกรณ์ผู้บริโภคคือกลุ่มธุรกิจที่ผู้บริโภคเป็นเจ้าของร่วมกัน (เช่น สหกรณ์อาหาร สหกรณ์เครดิตหรือเครดิตยูเนียน สหกรณ์สาธารณูปโภค เป็นต้น) แม้ว่าโมเดลนี้อาจขัดแย้งกับแนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของโดยคนงาน (worker-ownership) เนื่องจากสหกรณ์ผู้บริโภคหลายแห่งมีการจัดการแบบลำดับชั้นตามระบบทุนนิยมแบบดั้งเดิม และไม่มีการเป็นเจ้าของโดยคนงาน แต่สหกรณ์ผู้บริโภคบางแห่งก็นับรวมคนงานว่าเป็น เจ้าของ-ผู้บริโภค (consumer-owners) ในสหกรณ์ที่พวกเขาทำงานอยู่ และบางแห่งยังได้จัดตั้งสหกรณ์แบบผสมระหว่างคนงานกับผู้บริโภค เช่น เครือซูเปอร์มาร์เก็ตและปั๊มน้ำมัน อีรอสกี (Eroski) ที่มีสายสัมพันธ์กับวิสาหกิจสหกรณ์มอนดรากอน (Mondragon) สหกรณ์ผู้บริโภคที่รวมคนงานเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างที่ดีของการจำลองแง่มุมต่างๆ ของการวางแผนแบบมีส่วนร่วมและคอมมูนแบบสหพันธ์ในระบบเศรษฐกิจตลาด
สหกรณ์ผู้บริโภคเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในการประชุมวางแผน โดยผู้บริโภคสามารถแสดงความต้องการของตน คนงานสามารถแสดงความต้องการของตน และการคำนวณ รวมถึงการวางแผนภายในสามารถดำเนินการได้ตามผลลัพธ์ที่ได้รับ อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้ยังคงดำเนินการภายในระบบตลาด และสามารถรับสัญญาณจากตลาดมาปรับใช้ในการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งแผนที่ตอบสนองความต้องการของเจ้าของ-ผู้บริโภคและผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของที่อาจต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ของพวกเขาได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในกรณีที่การวางแผนนั้นล้มเหลว สหกรณ์ฯ ยังสามารถรวมตัวกันและจัดตั้งสหพันธ์สหกรณ์ (cooperative federations) ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่มีสมาชิกประกอบด้วยสหกรณ์ขนาดเล็กๆ ที่จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของสหพันธ์ สิ่งนี้ช่วยให้สหกรณ์ดังกล่าวสามารถประสานงานและวางแผนร่วมกันในลักษณะที่คล้ายคลึงกับวิสัยทัศน์ของคอมมูนสหพันธ์แบบอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ โดยไม่ต้องเผชิญกับภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ในการตอบสนองความต้องการของชุมชนทั้งหมด เพราะหลายคนก็อาจไม่สมัครใจเข้าร่วมการประชุมวางแผนและแบ่งปันความต้องการหรือความปรารถนาอย่างเปิดเผย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น สหกรณ์ผู้บริโภคเพียงแค่ต้องตอบสนองความต้องการของผู้ที่สมัครใจเข้าร่วม โดยบางสหกรณ์อาจใช้สัญญาณจากตลาดภายนอกในการคำนวณความต้องการของลูกค้าที่ไม่ใช่เจ้าของได้ด้วย
ในขณะที่สหกรณ์เหล่านี้อาจยังล้มเหลวเนื่องจากการวางแผนที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขายังอยู่ในระบบตลาด หมายความว่าธุรกิจอื่นๆ สามารถเข้ามาตอบสนองความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองได้ สหกรณ์ผู้บริโภคเปิดโอกาสให้เราทดลองใช้รูปแบบการวางแผนเศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ และลองแข่งขันกับโมเดลทางเลือกอื่นๆ เพื่อหาดูแนวทางใดจะตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ดีที่สุด.